Sunday, December 16, 2018

เกาะลัดอีแท่น : เกาะสีเขียว


เกาะลัดอีแท่น 
ตั้งอยู่ที่ อ.สามพราน จ.นครปฐม (อยู่อีกฟากหนึ่งของวัดไร่ขิง)

แผนผังในการเที่ยวชมเกาะ
มีลักษณะเป็นเกาะ ที่เกิดการขุดคลองเชื่อมระหว่างสองบริเวณลำน้ำท่าจีน เพื่อใช้เป็นเส้นทางลัดของชาวบ้านในการสัญจรทางน้ำ

พื้นที่เกาะถูกล้อมรอบด้วยลำน้ำท่าจีน และได้ทำการขุดคลองเพื่อผันน้ำเข้ามายังพื้นที่ด้านใน แน่นอนว่า ต้นทุนทางธรรมชาติที่สำคัญของเกาะนี้ คือ แหล่งน้ำธรรมชาติ และแร่ธาตุในดินที่ถูกพัดพามากับกระแสน้ำ จึงทำให้พื้นที่นี้มีความอุดมสมบูรณ์ เหมาะกับการเพาะปลูก


กระสอบทรายยักษ์ ที่เป็นร่องรอยการเกิดอุทกภัยเมื่อปี 2554

        ในปี 2554 ได้เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ ทำให้พื้นที่เกษตรโดยเฉพาะสวนส้มโอเสียหายเกือบทั้งหมด หลังจากนั้นชาวสวนจึงเริ่มปลูกกันใหม่ จนในปัจจุบันนี้ก็ได้มีผลผลิตที่ยังคงคุณภาพดีเช่นเดิม แต่เพิ่มเติม คือ ทุกพื้นที่เกษตรกรรมบนเกาะแห่งนี้ ไม่ใช้สารเคมี หรือหันมาทำการเกษตรแบบแบบอินทรีย์ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งนอกจากจะเกิดรายได้ให้กับคนในชุมชนแล้ว ยังได้รับประโยชน์อีกรูปแบบหนึ่ง ที่เป็นผลจากการคงความเป็นธรรมชาติเอาไว้ นั่นคือ เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร (agrotourism) ที่ในปัจจุบันทุกคนกำลังให้ความสนใจ


 การเดินทาง : หลังจากไหว้พระวัดไร่ขิงแล้ว สามารถขึ้นรถรางที่คอยให้บริการอยู่ภายในวัด ซึ่งจะมีมัคคุเทศก์น้อยคอยบรรยายตลอดทาง เพื่อให้สัมผัสกับวิถีชีวิตของชุมชนบนเกาะลัดอีแท่น โดยส่วนตัวแล้วเหมือนได้เปิดโลกทัศน์ใหม่ ๆ และได้รับความรู้ที่คนในชุมชนแห่งนี้พร้อมใจถ่ายทอดให้เราตามจุดท่องเที่ยวต่าง ๆ  ไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์พื้นบ้าน วัฒนธรรม และที่ขาดไม่ได้ คือ วิถีเกษตรกรรม 
..........
จุดแรกที่แวะ คือ พิพิธภัณฑ์วิถีชีวิตชุมชนบ้านคลองผีเสื้อ 

      ที่นี่ได้เก็บรวบรวมสิ่งของโบราณต่าง ๆ โดยลุงพนม "นักปราชญ์เล่าเรื่องเก่า"  

โดยสิ่งของแต่ละชิ้นจะบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับพื้นฐานการดำรงชีวิตของคนในชุมชน ส่วนมากเป็นเครื่องใช้ที่ทำจากดินเผา อุปกรณ์ทางการเกษตร และอุปกรณ์ก่อสร้างของคนสมัยก่อน ซึ่งบางชิ้นสำหรับคนเกิดยุค 90 เมื่อตอนยังเป็นเด็ก าจเคยเห็นปู่ย่าใช้สิ่งของเหล่านั้นอยู่ก็ได้ 

หม้อดินเผา



เตาไฟสมัยก่อนที่ใช้หุงข้าวหรือใช้ต้มยา 
..........
ระหว่างทาง...จะได้สัมผัสกับบรรยากาศของสองข้างถนนที่เป็นสวนผลไม้และนาข้าว สลับกับพุ่มดอกทองอุไรสีเหลืองสด
ต้นทองอุไรกำลังบานดอกสีเหลืองโดยจะพบได้ทั่วไปตามข้างถนน    

รูปแบบของการทำเกษตรกรรมของที่นี่ คือ การเกษตรแบบผสมผสาน โดยอาศัยหลักการเลียนแบบระบบนิเวศป่า คือ เน้นความหลากหลายทางชีวภาพ ประกอบด้วยพรรณไม้ที่มีความสูงลดหลั่นกันไป และให้ธรรมชาติพึ่งพากันเอง 

สวนส้มโอรุ่นใหม่ที่ปลูกหลังจากน้ำท่วมใหญ่ปี 2554  
      เมื่อมองเข้าไปในสวน จะพบต้นส้มโอเรียงรายเป็นแถว ซึ่งถือว่าเป็นพืชหลักของที่นี่ 
     นอกจากนี้ ยังมีไม้ผลอื่น ๆ เช่น ลำไย มะม่วง มะละกอ กล้วย ที่นิยมปลูกตามริมขอบสวนหรือข้างทาง (ประโยชน์อย่างหนึ่ง คือ ช่วยเป็นแนวกันลม) หรือปลูกต้นมะพร้าว และต้นหมากแซมระหว่างต้นส้มโอ เพื่อช่วยยึดหน้าดินและให้ร่มเงาแก่ต้นส้มโอ ยิ่งไปกว่านั้น..บนลำต้นหมากเองยังเป็นฐานให้ต้นพลูเลื้อยขึ้นไปได้ ถือว่าเป็นการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างคุ้มค่า เกิดความมั่นคงทางอาหาร เนื่องจากได้ผลผลิตที่หลากหลาย รวมถึงมีชาวบ้านมีรายได้เสริมในยาม "ข้าวยาก หมากแพง"

สวนกล้วยที่ปลูกพืชอื่น ๆ แซม

นาข้าวอินทรีย์ที่รายล้อมด้วยสวนผลไม้ 

สวนผลไม้ที่ปลูกแบบผสมผสานอย่างเห็นได้ชัด (ต้นสูง ๆ คือ ต้นหมาก ) 
.....
จุดที่สอง  คือ บ้านสวนโฮมสเตย์บางเตย

ตั้งอยู่ริมน้ำตรงข้ามกับตลาดน้ำดอนหวาย เป็นโฮมสเตย์ที่ออกแบบกลมกลืนกับธรรมชาติ ห้องพักที่มีรูปร่างเป็นเรือ บรรยากาศรายล้อมไปร่มเงาสวนและแม่น้ำ  
ถ้าเอาใจวัยรุ่นหน่อยก็มีร้านกาแฟริมน้ำไว้นั่งเพลินๆ คลอด้วยเพลงแนว jazz & bossa 

เรือนรับรองแขก สไตล์บ้านสวน
บรรยากาศริมน้ำ มีด้านตรงข้ามเป็นตลาดดอนหวาย

ห้องพักรูปทรงเรือ เหมือนกำลังลอยอยู่กลางน้ำ
.........
จุดที่สาม ศึกษาวัฒนธรรมไทย-จีนที่วัดทรงคนอง 

วิหารหลวงพ่อโป๋หลุย (องค์ที่อยู่ด้านซ้ายของภาพ)
     เป็นวัดเก่าแก่ของหมู่บ้าน โดยชื่อนี้มากจากสมัยก่อนหมู่บ้านนี้มีศาลเจ้าจีนตั้งอยู่และทุกปีจะมีการเข้าทรง หลังจากเข้าทรงแล้วมีอาการคึกคะนอง จึงเรียกรวมกันว่า ทรงคนอง

      ภายในวัดมีพระอุโบสถที่ขนาบซ้ายขวาด้วยวิหารหลังเล็กที่ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปเก่าแก่ที่มีอายุไม่น้อยไปกว่าวัด โดยองค์สำคัญที่ชาวบ้านให้ความนับถืออย่างมาก คือ หลวงพ่อโป๋หลุย

    
 บริเวณวัดยังพบเก๋งจีนโบราณ 100 ปี ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมจีนที่นิยมมากใน
สมัยรัชกาลที่ มีลักษณะเป็นห้องมิดชิด ก่อด้วยอิฐถือปูน มีประตูบานเดียว
สำหรับเข้าออก ผนังด้านนอกมีลวดลายคล้ายหินอ่อน ใช้สำหรับเก็บโกศอัฐิ

กา

การทำลวดลายหินอ่อน โดยใช้สีฝุ่นผสมกับน้ำ
ละลายลงไปในพื้นปูนที่ยังไม่แห้งสนิท
  
.......

จุดสุดท้าย คือ ศูนย์การเรียนรู้เกษตรอินทรีย์ นาข้าวไรซ์เบอร์รี
"แรงบันดาลใจที่อยากมอบสิ่งดี ๆ ให้กับคนที่รัก"

หลังจากเหน็ดเหนื่อยจากการเที่ยวชมจุดต่าง ๆ จนอิ่มใจ จุดนี้เป็นสุดท้ายที่เรา
จะได้อิ่มท้องด้วยของกินหลากหลาย ราคาย่อมเยา ไม่ว่าจะเป็นก๋วยเตี่ยวหมูใน
ปิ่นโต ราคาเพียง 25 บาท ที่สั่งเสร็จแล้วก็นั่งห้อยขาตาชมทุ่ง  รอเสิร์ฟได้เลย 

วิวของนาข้าวที่นั้งมองขณะรับประทานอาหาร 



   





    เมื่อทานของคาวเสร็จแล้ว ตบท้ายด้วยไอศกรีมกะทิข้าวไรซ์เบอร์รี รสชาติหวานมันและหอมกลิ่นข้าวอ่อน ๆ ในราคาเพียง 20 บาท โดยเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้จากแปลงนาข้าวปลอดสารที่เราเห็นขณะนั่งทานอยู่นั่นเอง 


ก่อนจะกลับ....อย่าลืมอุดหนุนข้าวไรซ์เบอร์รี ซึ่งราคาต่ำกว่าที่ขายข้าง
นอกแน่นอน เพราะว่าลุงแกผลิตเองขายเอง ไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง และที่
สำคัญ คือ ปลอดสารเคมี




....................................................................................................................


No comments:

Post a Comment